Google เพิ่มฟีเจอร์ Undo Send สำหรับการใช้ Gmail บนเว็บ อย่างเป็นทางการแล้ว
|Undo Send คือฟีเจอร์ของ Gmail ที่ใช้ในการ ยกเลิกการส่งอีเมล์ ที่ผู้ใช้ ได้ทำการกดส่งออกไปแล้ว ภายในระยะเวลาที่ได้ตั้งค่าไว้ เพื่อที่จะกลับมาแก้ไขข้อความ หรือแก้ไขไฟล์แนบใน e-mail เพิ่มเติม หรืออาจจะต้องการเปลี่ยนแปลงรายชื่ออีเมล์ผู้รับ หรือแม้แต่จะเปลี่ยนใจไม่ส่งอีเมล์ฉบับนั้นๆ เลยก็ได้
จริงๆ แล้วฟีเจอร์ Undo Send ได้ถูกเพิ่มเข้าไปใน Gmail ตั้งแต่ปี 2009 แล้ว แต่จะอยู่ในส่วนของ Gmail Labs โดยผู้ใช้งานที่สนใจจะทดลองใช้ จะต้องเข้าไปเปิดฟีเจอร์ Undo Send เพื่อนำมาทดลองใช้งานด้วยตัวเอง จนกระทั่งในปี 2015 นี้ ทาง Google ก็ได้ประกาศ เพิ่มฟีเจอร์ Undo Send สำหรับใช้งานใน Gmail เวอร์ชั่นบนเว็บไซต์ อย่างเป็นทางการซะที และคุณผู้อ่านท่านไหน อยากจะลองใช้งานฟีเจอร์ Undo Send ก็ตามมาดูวิธีการเปิดใช้และตั้งค่ากันได้เลย
การเปิดใช้ฟีเจอร์ Undo Send สำหรับ Gmail
1. ก่อนอื่นก็ทำการเปิด gmail ผ่านเว็บบราวเซอร์ พร้อม Log in เข้าใช้งานให้เรียบร้อย
2. จากนั้นให้คลิ๊กที่ ไอคอนรูปฟันเฟือง ซึ่งอยู่มุมบนขวา และคลิ๊กเลือกที่เมนู การตั้งค่า (Settings)
3. ในหน้าต่าง การตั้งค่า -> ทั่วไป (Settings -> General) ให้ทำการเลื่อนหน้าจอลงมาเรื่อยๆ จนเจอหัวข้อ ยกเลิกการส่ง (Undo Send) จากนั้นก็ติ๊กถูกที่ “เปิดการใช้งานการยกเลิกการส่ง (Enable Undo Send)” และทำการเลือกระยะเวลาในการยกเลิกการส่ง ซึ่งจะมีให้เลือกตั้งแต่ 5, 10, 20 และ 30 วินาที และก็คลิ๊กที่ปุ่ม บันทึกการเปลี่ยนแปลง (Save Changes) ที่อยู่ด้านล่างสุดของหน้าจอ ก็เป็นอันสิ้นสุดการตั้งค่า
4. สำหรับในการใช้งาน เมื่อเราทำการสร้างจดหมาย และกดปุ่ม ส่ง เรียบร้อยแล้ว จะปรากฎกล่องข้อความขนาดเล็กด้านบน พร้อมกับข้อความ “ข้อความของคุณถูกส่งแล้ว เลิกทำ ดูข้อความ” โดยจะปรากฎตามเวลาที่เราได้ตั้งค่าไว้ในข้อที่ 3 ซึ่งเราสามารถคลิ๊กที่ข้อความ เลิกทำ ได้ทันที เพื่อเป็นการยกเลิกการส่ง และ e-mail ฉบับดังกล่าวจะถูกเปิดขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เราสามารถกลับไปแก้ไข เพิ่มเติมได้
ถือว่าเป็นฟีเจอร์ที่เข้าท่าดีทีเดียว เพื่อใช้แก้ไขความผิดพลาด หรือพลั้งเผลอที่เกิดขึ้น และเรานึกขึ้นได้ ในจังหวะหลังจากกดปุ่ม ส่งอีเมล์ไปแล้ว อย่างน้อยเปิดฟีเจอร์ตัวนี้ไว้ใช้ก็ไม่เสียหลายแต่อย่างใด ลองเข้าไปดู วีดีโอแนะนำฟีเจอร์ Undo Send ที่ด้านล่างกันได้เลย
ที่มา: thenextweb.com
เรียบเรียงโดย: www.cyberities.com